VLT, IRR, UVR และ TSER คืออะไร?

ในการพิจารณาติดตั้งฟิล์มกันความร้อน ผู้บริโภคควรจะรู้จักความหมายและเข้าใจความสำคัญของค่าพารามิเตอร์ต่างๆที่ผู้ผลิตได้กำกับไว้ในคุณสมบัติของฟิล์มซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเลือกฟิล์มได้ถูกต้องตรงกับความต้องการของตนเองมากที่สุด เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป และเพื่อลดความสับสนของตัวเลือกฟิล์มที่มีหลากหลาย บวกกับคำโฆษณาชวนเชื่อในท้องตลาดที่มากมาย ดังนั้นวิธีการตัดสินใจเลือกฟิล์มที่เหมาะสมกับความต้องการโดยพิจารณาจากค่าพารามิเตอร์ที่สำคัญจึงเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สุดในปัจจุบัน เพราะค่าพารามิเตอร์ต่างๆเหล่านี้เป็นตัวเลขทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติหรือคุณภาพที่พิสูจน์และวัดได้(Quality you can prove) เพราะฉะนั้นลูกค้าคนสำคัญจะไม่ถูกหลอกอีกต่อไป

VLT = Visible Light Transmission

หมายถึงค่าแสงที่มองเห็นผ่านฟิล์มโดยบอกเป็นเปอร์เซนต์ ตัวอย่างเช่น VLT = 40% หมายความว่าฟิล์มนี้จะปล่อยให้แสงที่มองเห็นผ่านได้ 40% นั่นคือค่าVLT ยิ่งมากฟิล์มยิ่งใส หรือค่าVLT ยิ่งต่ำฟิล์มยิ่งมืด

โดยทั่วไปค่า VLT นี้จะตรงข้ามกับค่าความเข้มของฟิล์มเพราะ VLT คือเปอร์เซนต์ที่แสงผ่านส่วนความเข้มคือเปอร์เซนต์ที่ไม่ให้แสงผ่าน อย่างไรก็ตามการในการสื่อสารเรื่องฟิล์มในอดีตที่ผ่านมาผู้ขายมักจะพูดถึงความเข้มของฟิล์มมากกว่าค่า VLT ตัวอย่างเช่น ฟิล์ม 40%, 60% หรือ80% ซึ่งถ้าพูดสั้นๆเช่นนี้มักจะหมายถึงฟิล์มที่มีความเข้ม 40%, 60% หรือ80% ตามลำดับ และในสมัยก่อนผู้ขายยังไม่มีเครื่องมือวัด หรือไม่ได้อ้างอิง Spec ให้ลูกค้าเข้าใจอย่างชัดเจน ฟิล์มเข้ม 40% จึงอาจมีค่า VLT ได้ตั้งแต่ 60%-40% หรือฟิล์มเข้ม 80% อาจจะมีค่า VLT ได้ตั้งแต่ 20% ไปจนถึง 5% ผู้ขายเพียงแค่นำตัวอย่างมาให้ดูและเลือกว่าฟิล์มแต่ละแบบมีความเข้มเท่าไร และลูกค้าส่วนใหญ่จะตัดสินใจเลือกให้เข้มไว้ก่อนถ้าไม่ต้องการร้อน หรือถ้ากลัวจะมืดจนเกินไปในเวลากลางคืนลูกค้าก็ต้องยอมลดความเข้มลงและทำใจว่าจะร้อนขึ้นเล็กน้อย ซึ่งการตัดสินใจเลือกด้วยวิธีประมาณการจากความเข้มจึงเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมสักเท่าไรในปัจจุบันเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้

1. การป้องกันความร้อนไม่ใช่พิจารณาจากความเข้มเพียงอย่างเดียว มีตัวแปรอื่นที่เป็นปัจจัยหลักเรื่องความร้อนอย่างเช่น ค่าIRR, ค่าUVR, ค่าTSER เป็นต้น ซึ่งจะได้กล่าวถึงในลำดับถัดไป

2. ความชัดเจนในการมองเห็นจากภายใน หรือจากภายนอกซึ่งมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกของการเป็นส่วนตัว หรือในทางตรงกันข้ามคือความรู้สึกที่ต้องการแสดงออก เปิดเผยให้คนอื่นได้เห็นความสวยงามของภายในรถ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะต้องพิจารณาจากค่า VLT โดยตรง

3. ลูกค้าสามารถเลือกฟิล์มใสมากขึ้นหรือเข้มน้อยลงโดยที่ไม่รู้สึกร้อนในเวลากลางวันเพราะฟิล์มที่มีค่าIRR สูงไม่ว่าจะเป็นฟิล์มใสหรือเข้มจะป้องกันความร้อนจากรังสีอินฟราเรดได้ดีมาก และทำให้รู้สึกไม่ร้อน

4. ด้วยเทคโนโลยีใหม่ในปัจจุบันที่ฟิล์มติดรถยนต์สามารถปรับค่าความเข้มหรือค่าแสงผ่าน(VLT)ได้อัตโนมัติเหมือนเลนส์แว่นตากันแดด(คุณสมบัติโฟโตโครมิก) ทำให้ลูกค้าได้ฟิล์มเข้มในตอนกลางวันและได้ฟิล์มเข้มน้อยลงหรือใสมากขึ้นในเวลากลางคืน ลูกค้าจึงรู้สึกเย็นสบายและมีทัศนวิสัยการมองเห็นที่ดีในทุกสถานการณ์ และยังช่วยประหยัดพลังงานของรถยนต์อีกด้วย

IRR = Infra Red Rejection

หมายถึงค่าต่อต้านรังสีอินฟราเรดของฟิล์มโดยบอกเป็นเปอร์เซนต์ ตัวอย่างเช่น IRR = 60% หมายความว่าฟิล์มนี้จะป้องกันรังสีอินฟราเรดได้ 60% ดังนั้น ค่า IRR ยิ่งสูงฟิล์มยิ่งป้องกันรังสีอินฟราเรดได้ดี โดยทั่วไปรังสีอินฟราเรดจากแสงอาทิตย์เป็นรังสีตัวหลักที่ก่อให้เกิดความร้อน ถ้าเราวัดค่ากำลังของแสงอาทิตย์ที่ระดับพื้นต่อตารางเมตร เมื่อดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดเหนือศีรษะ องค์ประกอบของแสงอาทิตย์จะเป็นรังสีอินฟราเรดประมาณ 520-550 วัตต์, แสงที่ตามองเห็นประมาณ 420-430 วัตต์ และรังสีอัลตราไวโอเล็ตประมาณ 30-50 วัตต์[อ้างอิงhttps://en.wikipedia.org/wiki/Sunlight] หรือคิดเป็นสัดส่วนเปอร์เซนต์ อินฟราเรด(IR) : แสงที่มองเห็น(VL) : อัลตราไวโอเล็ต(UV) ได้เท่ากับ 52-55% IR : 42-43% VL : 3-5% UV และเรามักจะใช้ค่าประมาณองค์ประกอบของแสงอาทิตย์ด้วยตัวเลขนี้ 53% IR : 44% VL : 3% UV

จะเห็นได้ว่าค่าพลังงานส่วนใหญ่(53%)ของแสงอาทิตย์คือรังสีอินฟราเรด ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ให้ความร้อนเป็นหลักเราจึงมักจะพบว่า รังสีอินฟราเรดถูกเรียกชื่อเป็น “รังสีความร้อน” หลายคนอาจจะเคยได้ยินว่ารีโมทคอนโทรลใช้แสงอินฟราเรดในการสื่อสาร แต่ในความจริงแล้วแสงอินฟราเรดมีการประยุกต์ใช้งานที่กว้างขวางมากกว่านี้เช่น กล้องอินฟราเรดที่ใช้มองวัตถุในที่มืด หรือกล้องอินฟราเรดที่ถ่ายภาพโดยอาศัยหลักการตรวจจับคลื่นความร้อนหรือรังสีอินฟราเรดที่เปล่งออกจากสิ่งมีชีวิต หรือในอุตสาหกรรมอบแห้งจำนวนมากหลอดไฟอินฟราเรดถูกนำมาใช้เป็นแหล่งกำเนิดความร้อนทดแทนลวดความร้อนแบบเก่า ดังนั้นรังสีอินฟราเรดจึงเป็นรังสีความร้อนอย่างแท้จริง

UVR = Ultra Violet Rejection

หมายถึงค่าต่อต้านรังสีอัลตราไวโอเลตของฟิล์มโดยบอกเป็นเปอร์เซนต์ ตัวอย่างเช่น UVR = 70% หมายความว่าฟิล์มนี้จะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ 70% ดังนั้น ค่า UVR ยิ่งสูงฟิล์มยิ่งป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดี โดยทั่วไปรังสีอัลตราไวโอเลตจะเป็นรังสีที่ทำร้ายผิวหนังและดวงตา และยังทำลายสีของเบาะและคอนโซลรถยนต์ให้ซีดจางอีกด้วย รายละเอียดหรือข้อเพิ่มเติมเกี่ยวกับรังสีอัลตราไวโอเลตสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในหัวข้อ “UV400 คืออะไร?”

TSER = Total Solar Energy Rejection

หมายถึงค่าตัวเลขที่บอกถึงการต่อต้านพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ ค่าพารามิเตอร์นี้สามารถคำนวณโดยประมาณได้จากการคำนวณเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของ %VLT, %IRR และ %UVR ที่วัดได้โดยกำหนดเป็นค่าโดยประมาณไว้ว่า Solar Energy ประกอบไปด้วย แสงที่มองเห็น (VL) 44% แสงอินฟราเรด 53% และแสงยูวี 3%

ดังนั้น %TSER = 44%x(100-VLT) + 53%x(IRR) + 3%x(UVR)

อย่างไรก็ตามค่า%TSER ที่คำนวณได้นี้จะเป็นค่าโดยประมาณถ้าต้องการทราบค่าจริงสามารถใช้ Spectrum Light Transmission Analyzer วัดค่าพลังงานในแต่ละย่านความถี่ของแสงที่ส่งผ่านฟิล์มซึ่งมักจะวัดได้ค่าที่ต่ำกว่าค่าที่คำนวณด้วยสมการข้างบนประมาณ 10-20%

ค่าพารามิเตอร์ของฟิล์มติดกระจกกันความร้อนที่ควรรู้เพิ่มเติม

% Solar Transmittance (T-sol)

หมายถึงอัตราส่วนของปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์รวม (ในขอบเขตความยาวคลื่นเต็มของแสงอาทิตย์ ตั้งแต่ 300- 2,500 นาโนเมตร) ที่ผ่านระบบกระจก (กระจกที่ติดฟิล์ม) ต่อปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์รวมที่ตกกระทบระบบกระจก ค่านี้จะแสดงค่าเป็นเปอร์เซนต์

% Solar Reflectance (R-sol)

หมายถึงอัตราส่วนของปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์รวมที่สะท้อนออกจากระบบกระจก ต่อปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์รวมที่ตกกระทบระบบกระจก ค่านี้จะแสดงค่าเป็นเปอร์เซนต์

ข้อสังเกต โดยทั่วไปค่านี้ยิ่งสูงจะยิ่งดีเพราะจะช่วยสะท้อนพลังงานความร้อนออกไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามถ้าค่านี้มากเกินไปอาจจะสะท้อนเข้าตาผู้ใช้อื่นๆที่ร่วมทางกับเราได้ ในบางประเทศค่านี้จะถูกจำกัดให้ไม่เกิน 30 สำหรับบานหน้าหรือ 50% สำหรับบานข้าง

% Solar Absorptance (A-sol)

หมายถึง อัตราส่วนของปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ที่ถูกดูดซับโดยระบบกระจกต่อปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์รวมที่ตกกระทบระบบกระจก ค่านี้จะเป็นเศษส่วนกับค่า T-sol หรือ R-sol เนื่องจากค่า T-sol และค่า R-sol ถูกวัดได้โดยตรง ดังนั้นค่า A-sol จะเป็นค่าที่คำนวณได้จากสมการ

Solar Absorption = 1.00 - (Solar Transmittance) - (Solar Reflectance)

ข้อสังเกต โดยทั่วไปค่านี้ยิ่งต่ำยิ่งดี ค่านี้จะเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อความเครียดที่กระจกจะได้รับ ถ้าค่านี้สูงเกินไปกระจกก็จะร้อนมากจนอาจจะแตกหรือทำให้ซีลยางของขอบกระจกเสื่อมสภาพ

% Visible Light Transmittance (VLT)

หมายถึงอัตราส่วนปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ที่มองเห็น (380-780 นาโนเมตร) ที่ผ่านระบบกระจก ต่อปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ที่มองเห็นที่ตกกระทบระบบกระจก ค่านี้จะแสดงเป็นเปอร์เซนต์ และเป็นตัวเดียวกันกับค่า “Visible Light Transmission” หรือเราอาจพบเป็นคำว่า “Visible Light Transmitted” ทั้งสามค่านี้คือค่าเดียวกัน แสงที่มองเห็นมีสัดส่วนโดยประมาณเท่ากับ 44% ของพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดที่มาสู่ผิวโลก ค่า VLT นี้โดยทั่วไปมักจะวัดจากค่าแสงที่ดวงตามนุษย์รับรู้ได้ง่ายที่สุดซึ่งจะเป็นค่าแสงที่มีความยาวคลื่นประมาณ 550 นาโนเมตร

ข้อสังเกต ค่า VLT ยิ่งต่ำ จะช่วยลดค่าแสงจ้าที่เกิดขึ้นได้ดี

% Visible Reflectance-exterior and interior (VLR-ext and VLR-int)

หมายถึงค่าเปอร์เซนต์ของแสงที่มองเห็นที่สะท้อนโดยระบบกระจกต่อแสงที่มองเห็นที่ตกกระทบบนระบบกระจก VLR-ext จะเป็นค่าที่สะท้อนจากผิวด้านนอกของระบบกระจก ส่วน VLR-int จะเป็นค่าที่สะท้อนจากผิวด้านในของระบบซึ่งก็หมายถึงห้องโดยสารนั่นเอง

ข้อสังเกต กระจกใสจะมีค่า VLR ประมาณ 8% ค่า VLR-ext สูงจะมีช่วยให้การมองเห็นจากข้างนอกเป็นไปได้ยาก หรือทำให้มีความเป็นส่วนตัวสูง ส่วนถ้า VLR-int สูงจะทำให้การมองออกไปข้างนอกทำได้ยากในกรณีด้านนอกมืดกว่าด้านใน โดยทั่วไปค่านี้สูงมากก็จะไม่ดี

U-Factor: (หรือบางทีเรียกว่า U-value)

หมายถึงค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนทั้งหมดของระบบกระจก (ด้วยวิธีนำความร้อน, พาความร้อน และแผ่รังสีความร้อน) ค่านี้คือการวัดการถ่ายเทความร้อนที่เกิดขึ้นผ่านระบบกระจกจากผิวด้านนอกไปผิวด้านใน (หรือจากในไปนอก) ค่านี้จะถูกแสดงในหน่วยกำลังงานต่อพื้นที่ต่ออุณหภูมิ หรือ W/(m2. °C) หรือ BTU/(hr.ft2.°F) ค่า U-Factor นี้ยิ่งต่ำแสดงว่าระบบกระจกจะมีคุณสมบัติความเป็นฉนวนความร้อนที่ดี ค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อนคือตัววัดความสามารถของวัสดุในการต้านการถ่ายเทความร้อนยิ่งค่านี้ต่ำแปลว่าการถ่ายเทความร้อนเกิดขึ้นได้ช้า นั่นคือความร้อนจากนอกตัวรถจะถูกนำเข้าสู่ในตัวรถได้ยาก หรือในทางกลับกันความเย็นจากในตัวรถจะถูกนำออกสู่นอกตัวรถได้ยาก สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้างหรืออุตสาหกรรมผลิตฉนวนความร้อน จะใช้ค่า R-Factor เพื่อระบุความสามารถการเป็นฉนวนความร้อนของวัสดุ ค่า R-Factor จึงเป็นค่าที่ตรงกันข้ามหรือเป็นส่วนกลับกับค่า U-Factor นั่นคือ R = 1/U ตัวอย่างเช่น หน้าต่างบานนี้มีค่า U-Factor = 0.25 หมายความว่าจะมีค่า R-Factor = 1/0.25 = 4 นั่นเอง

Shading Coefficient (SC)

หมายถึงอัตราส่วนการรับความร้อนจากแสงอาทิตย์ผ่านระบบกระจกต่อการรับความร้อนผ่านกระจกใสที่มีความหนา 3 มม. ค่านี้จึงแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการควบคุมหรือลดทอนแสงอาทิตย์ของระบบ กระจก ถ้าค่านี้เท่ากับ 1 แสดงว่าแสงอาทิตย์ผ่านได้เท่ากับกระจกใส และถ้าค่านี้ต่ำจะแสดงว่าระบบกระจกตัดพลังงานแสงออกไปได้มาก ปัจจุบันค่านี้อาจจะไม่นิยมใช้มากนักเพราะกระจกมาตรฐานใสที่ใช้เป็นตัวอ้างอิงอาจจะมีค่าไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ ค่าที่นิยมใช้แทนค่านี้จะเปลี่ยนเป็นค่า SHGC

Solar Heat Gain Coefficient (SHGC)

หมายถึงเศษส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ที่ผ่าน และดูดซับระบบกระจก ค่านี้จะเป็นตัวเลขระหว่าง 0 กับ 1 ค่านี้ยิ่งต่ำ ความร้อนที่ระบบกระจกรับมาจะยิ่งน้อย หรือกล่าวได้ว่าระบบกระจกมีความสามารถปฏิเสธความร้อนได้ดี หรือกล่าวได้ว่าระบบกระจกที่มีค่า SHGC ต่ำ จะเป็นกระจกที่กันความร้อนได้ดี

ค่า SHGC นี้จะสัมพันธ์กับค่า TSER ด้วยสมการ SHGC = 1 – TSER

ตัวอย่างเช่น TSER = 62% SHGC จะเท่ากับ 1 - 0.62 = 0.38 เป็นต้น ปัจจุบันค่านี้ถูกใช้แพร่หลายมากขึ้นเพื่อใช้เปรียบเทียบสมรรถนะของระบบกระจก